Archive: October 2020

ปรับความตึงด้าย

27Oct

POSTED BY

หนึ่งในปัญหาที่ช่างเย็บผ้าส่วนใหญ่มักจะเจอบ่อยๆคือ ด้ายด้านบน หรือด้านล่างเป็นถั่วงอก ซึ่งเกิดจากความตึงด้ายด้านบนและด้านล่างไม่สำพันธ์กัน อีกส่วนก็เกิดจากความหนาของเนื้อผ้าแต่ละชนิด ซึ่งก็ใช้ความตึงด้ายที่แตกต่างกัน หรือบางครั้งเย็บมาฝีเข็มก็สวยแล้วแค่เปลี่ยนด้ายบนหรือด้ายล่างสีใหม่ก็เป็นถั่วงอก ต้องมาปรับกันใหม่ การที่จะเย็บผ้าให้ตะเข็บสวย แรงตึงด้ายบนและด้ายล่างจะต้องสมดุลกัน โดยเฉพาะงานปักที่ต้องปรับความตึงด้ายให้ตึงเป็นพิเศษ

การแก้ไขความตึงด้ายไม่สมดุล

การปรับความตึงด้าย ส่วนใหญ่มักจะใช้ความชำนาญว่า จะต้องตั้งความหนืดของเส้นด้ายที่มาจากกระสวยที่อยู่ด้านล่างของหัวจักร ให้มีความหนืดเล็กน้อย คือ ไม่หนืดจนมากไป หรือ หลวมจนเกินไป ตั้งให้หนืดนิดเดียวพอ จากนั้นร้อยด้ายด้านบนหัวจักรให้ถูกต้อง ให้อยู่ในลักษณะพร้อมใช้งาน จากนั้นนำผ้ามาทดลองเย็บดู ถ้าฝีเข็มที่เย็บชิ้นงานออกมา “ด้านบน” หรือ “ด้านล่าง” ไม่สวยหรือเป็นถั่วงอก ก็ให้หมุนหรือปรับเฉพาะชุดปรับด้ายด้านบนของหัวจักร ที่ล่ะนิดปรับให้แน่นหรือปรับให้หลวมอยู่ที่ว่าเป็นถั่วงอกด้านไหน ปรับจนกว่าฝีเข็มที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ

เครื่องวัดความตึงด้าย

ยังมีวิธีปรับความตึงด้ายแบบง่ายๆสำหรับมือใหม่ โดยการใช้เครื่องมือวัดความตึงด้าย ซึ่งมีหลายแบบ หลายราคา มีราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันบาทแล้วแต่ความสะดวกในการใช้งาน ส่วนใหญ่ขายอยู่ที่เว็บไซต์ Aliexpress หรือ Ebay ก็ลองเข้าไปหาดูนะครับ เมื่อใช้เครื่องปรับความตึงด้ายแล้วเราจะกำหนดการมัดของฝีเข็มได้

ถ้าเราใช้ด้ายขนาดเดียวกัน และเย็บผ้าที่มีความหนาเช่น เย็บงาน Quilts ซึ่งเป็นผ้าที่มีผ้าและใยประกบกัน 3 เลเยอร์ เมื่อแรงมัดสมดุลย์ทั้งด้านบนและด้านล่าง จุดมัดจะอยู่ตรงกลางผ้า แต่ถ้าผ้าที่เย็บเป็นผ้าบางจุดมัดอาจอยู่ด้านบนหรือด้านล่างก็ได้ ถ้าเรามีเครื่องวัดความตึงด้ายเราก็เลือกให้จุดมัดอยู่ด้านล่าง เพื่อโชว์ฝีเข็มด้านบนได้ โดยการคลายแรงตึงที่ด้านบน ให้ด้ายล่างมีแรงดึงมากกว่าด้ายด้านบน ถ้าด้ายคนล่ะขนาดกันก็สามารถปรับให้ด้ายเล็กมีแรงดึงมากกว่าเพื่อให้แรงดึงสมดุลย์ก็ได้ครับ เมื่อเย็บฝีเข็มสวยแล้วก็จดแรงดึงของด้ายล่างเก็บไว้เพื่อใช้ในครั้งต่อไป

ส่วนใหญ่ช่างจะให้ความสำคัญกับความหนืดด้ายด้านล่างมากกว่าถ้าด้ายด้านล่างมีความหนืดที่ดี เราก็จะปรับเฉพาะความหนืดด้ายด้านบนเท่านั้น ถ้าความหนืดด้านล่างไม่หนืดมากด้านบนก็ไม่ต้องปรับมากโอกาสด้ายขาดเพราะความตึงที่มากเกินไปก็น้อย เช่น พวกงาน Quilts หากเราต้องการฝีเข็มสวยๆที่ด้านบน ถ้าความหนืดด้ายด้านล่างมากเกินไปด้ายด้านบนก็ต้องให้มีความหนืดมากขึ้น ปรับกันจนสวยแต่ด้ายตึงมากเกินไป เย็บไปสักพักด้ายก็ขาดได้ครับ

วีดีโอการใช้งาน

เมื่อปรับความหนืดด้ายกันแล้วอย่าลืมเลือกเข็มและด้าย ให้มีขนาดที่สำพันธ์กับผ้าที่จะเย็บด้วยนะครับ ผ้าหนาก็ใช้ด้ายหนาเข็มใหญ่ ผ้าบางใช้ด้ายเล็กเข็มเล็กครับ
—-> การใช้เข็มจักรเย็บผ้า <—-