เข็มจักรเย็บผ้า

22Oct

POSTED BY

เข็มจักรเย็บผ้า

ถ้าพูดถึงจักรบ้าน จักรหัวดำ จักรหิ้วพกพา ปัญหาที่พบได้บ่อยในการใช้จักรมากที่สุดก็คือ ฝีเข็มกระโดด ด้ายขาด หรือเย็บไม่ติด ปัญหานี้เกิดจากการใช้เข็มที่ไม่มีคุณภาพ เข็มที่มีคุณภาพ หายาก และมีราคาแพง ส่วนเข็มที่ขายทั่วไปจะราคาถูก 1ซอง อาจจะใช้ได้ไม่กี่เล่มหรือซื้อมา 1 ซองกลับใช้ไม่ได้เลย

หากสนใจซื้อเข็มเย็บหนังสามารถเข้าไปดูได้ที่ –> Shopee-เข็มเฉียงเย็บหนัง หรือ Shopee-เข็มเย็บงานหนา หรือติดต่อ line:wit-san

เข็มจักรที่ใช้สำหรับจักรเล็ก จักรหูหิ้ว หรือจักรหัวดำเก่า เป็นระบบเข็ม 15×1 ซึ่งเป็นระบบเข็มที่บริษัทSinger คิดค้นขึ้นมา ถูกนำมาใช้กันมาก จนกลายมาเป็นระบบสากล ที่ถูกใช้แพร่หลายในปัจจุบัน ถ้าพูดถึงจักรเก่าที่เรียกกันว่าจักรหัวดำ ระบบเข็ม 15×1 นี้ เกิดขึ้นมาโดยบริษัทจักรเก่ายี่ห้อ singer ที่สมัยก่อนมีระบบเข็มออกแบบมาใช้เองคือ 15×1 ก้นแบน ใช้สำหรับจักร Singer Model 15 ต่อมาก็กลายเป็นมาตฐานให้จักรหัวดำอื่นๆ จนกลายเป็นระบบสากล และมีเบอร์ต่างๆ ที่วัดจากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นมาตฐาน ตั้งแต่ 9,11,14,16,18,19,21 หรือเรียกแบบ(อเมริกา/ยุโรป)คือ 65/9, 80/11, 85/13, 90/14, 100/16, 110/18, 130/21 ยิ่งเบอร์ใหญ่ตัวเข็มจะหนา และมีรูสอดด้าย หรือตาเข็มกว้าง เพื่อให้ใช้กับด้ายที่ใหญ่ขึ้น เข็มในระบบ 15×1 ในระบบสากลก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ชื่อของระบบเข็ม 15×1 ได้แก่ 15×1, 2020, 130 / 705H, HAx1, HA ชื่อเหล่านี้คือชื่อของระบบเข็มชนิดเดียวกันเป็นเข็มก้นแบนหนึ่งด้าน

ระบบเข็ม 206×13 และ 15×1

ในจักรเก่ายังมีเข็มอีกประเภทหนึ่งของ Singer ที่เหมือนกับเข็ม 15×1 ทุกประการแต่ระยะห่างจากตาเข็มจนปลายแหลมเข็มจะสั้น เรียกระบบเข็มนี้ว่า 24×1, 24×3 ออกแบบมาสำหรับจักร Singer เก่ารุ่น 20 24 306 319 320 และ ระบบเข็ม 206×13 สำหรับ Singer รุ่น 206 หมายความว่าใครที่มีจักรเก่า Model 40k,20,24,24k,50D,206 ต้องใช้ระบบเข็ม 24×3 ถ้าเป็น Model 206,306,319,320 ต้องใช้ระบบเข็ม 206×13 จักรเก่าเหล่านี้ต้องใช้เข็มเฉพาะห้ามเอาเข็มระบบ 15×1 มาใช้ เพราะมันจะแทงลงไปทิ่มชิ้นส่วนด้านล่างของกลไกจักรได้

องค์ประกอบของเข็ม

Shank คือ ส่วนก้นเข็ม ที่ไว้สอดเข้าเสาเข็ม ซึ่งระบบเข็ม 15×1 จะมีก้นแบน 1 ด้าน
Shaft คือ ส่วนก้านเข็มที่ถัดมาจากส่วนก้นเข็ม
Groove คือ ร่องเข็มคือรอยเซาะร่องเข็มเซาะยาวไปถึงตาเข็ม
Scarf คือ ส่วนเว้าของก้านเข็มก่อนถึงตาเข็มเพื่อให้เข็มกระสวยด้านล่างสอดเข็มเอาด้ายล่างเข้ามามัดได้ส่วนนี้จะอยู่ด้านเดียวกับด้านแบนที่ก้นเข็ม
Eye คือ รูที่สอดด้ายผ่านเข็ม ถ้าเข็มที่ดีมีมาตฐานรูจะกว้างได้มาตฐานและรูเข็มจะไม่คมบาด้ายทำให้ด้ายขาดบ่อย
Point คือ จุดปลายเข็ม ปลายเข็มนี้ออกแบบมา หลายแบบ ปลายเข็มกลมมนสำหรับเจาะผ้าปลายแหลมพิเศษบางเจาะผ้าหนา ปลายแหลมเหมือนปลายหอกเจาะหนัง ปลายเข็มเฉียงสำหรับฝีเข็มเฉียง หรืออื่นๆ

การเลือกเข็มและด้าย

เข็มจักรจะสำพันธ์กับด้ายที่จะเย็บ การเลือกเข็มมีความสำคัญกับลักษณะงานที่จะใช้ จึงควรเลือกใช้เข็มให้เหมาะกับขนาดผ้า เข็มใหญ่รูผ้าที่ถูกเจาะก็จะใหญ่ เข็มเล็กเมื่อนำมาใช้งานหนาก็ทำให้เข็มงอและหักได้ เข็มใหญ่ควรจะใช้กับผ้าที่หนา และรูเข็มจะต้องเหมาะสมกับขนาดด้าย ถ้าด้ายใหญ่เกินไปใช้กับเข็มเล็กก็ทำให้ด้ายคับในรูเข็ม หรือสอดด้ายเข้ารูเข็มไม่ได้ จะทำให้ด้ายแตก ด้ายเดินไม่สะดวก เข็มเบอร์เล็กเลขน้อยจะบางกว่า เหมาะกับการเย็บผ้าบาง เพราะจะสามารถแหวกผ้าได้ดี ไม่ทำให้เกิดรูกว้างบนชิ้นงาน และควรใช้เข็มที่ดีได้มาตฐาน งานที่ฝีเข็มกระโดดส่วนใหญ่เกิดจากเข็มไม่ได้มาตฐาน หรือเข็มมีการบิดงอ รูตาเข็มมีความคมจะทำให้ด้ายขาดบ่อย

cr.so-sew-easy.com

การปักผ้าด้วยเข็มที่บิดงอ เป็นเรื่องที่อันตรายมากเพราะเข็มอาจหักในขณะที่จักรกำลังทำงาน ดังนั้นก่อนการใช้เข็ม ให้วางเข็มด้านที่แบนบนพื้นผิวราบเรียบเผื่อตรวจสอบให้เข็มตรงแน่ใจว่าระยะห่างระหว่างเข็มและพื้นผิวที่เรียบมีความห่างที่ขนานกัน ถ้าระยะห่างระหว่างเข็มและพื้นผิวที่เรียบไม่ขนานกัน แสดงว่าเข็มมีลักษณะบิดงอ

เข็มเย็บผ้า เบอร์ต่างๆ

การเลือกใช้เข็มที่เป็นมาตฐานใช้สำหรับเย็บผ้าทั่วไป ใช้ได้กับจักรตั้งโต๊ะทุกยี่ห้อ สามารถใช้ตารางด้านล่างในการเลือกใช้เข็มให้เหมาะกับงานต่างๆได้

เบอร์ # 9 – 11 : เหมาะสำหรับเย็บผ้าบาง ๆ อ่อนนุ่ม หรือผ้ายืด ผ้าชีฟอง ผ้าที่มีลักษณะโปร่งใส ผ้าลูกไม้ ผ้าไหม ผ้าที่มีเนื้อละเอียด
เบอร์ #13 : เหมาะสำหรับเย็บผ้าทั่วไป ผ้าบาง ผ้าฝ้าย ลินิน ผ้ากำมะหยี่ ผ้าชีฟอง
เบอร์ #14-16 : เหมาะสำหรับเย็บผ้าค่อนข้างหนา, ยีนส์ ผ้าเนื้อแน่น ผ้าต่วน ผ้าแคนวาส ผ้าคอตตอน ผ้านอกชนิดหนา
เบอร์ #18 : เหมาะสำหรับเย็บผ้าหนา, ยีนส์, เย็บหนัง ที่ไม่หนามากได้
เบอร์ #20-21 : สำหรับผ้าแคนวาสหลายๆทบ ผ้าสปัน สายผ้าสปันประกบหนัง หนังฟอกฟาด

วิธีการใส่เข็มเย็บผ้า

เมื่อเราพิจารณาที่ก้นเข็ม (15×1) จะเห็นด้านแบนและด้านกลม ให้หันด้านแบนแนบกับเสาเข็มทางขวามือแล้วล็อกเข็ม หรือถ้าเป็นเข็มจักรอุตสาหกรรม(DB)จะไม่มีด้านแบนก็ให้สังเกตุที่ตรง Scarf คือ ส่วนเว้าของก้านเข็มก่อนถึงตาเข็ม และจะอยู่ฝั่งเดียวกับด้านก้นแบนของเข็มระบบ 15×1 ให้เอาด้าน Scarf (แทนด้านก้นแบนของเข็ม15×1) เอาไปแนบกับเสาเข็มและจัดให้ขนานกับเสาเข็มโดยไม่เอียง ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยครับ

จักรแต่ล่ะรุ่น เช่นพวกจักรซิกแซก อาจใส่เข็มไม่เหมือนจักรเย็บตรงทั่วไป จึงควรศึกษาคู่มือจักรยี่ห้อนั้นๆ ก่อนใช้งานนะครับ

หมายเหตุ: ถ้าใช้จักรมอเตอร์ไฟฟ้าต้องถอดปลั๊กมอเตอร์ ออกทุกครั้งก่อนเปลี่ยนเข็มและตีนผีเพื่อป้องกันไฟดูด

รีวิวเข็มจักรเก่า

เข็มจักรที่ใช้สำหรับจักรบ้านกระเป๋าหิ้วทั่วไปที่ไม่ใช่จักรอุตสาหกรรม ที่ยังใช้ในปัจุบันคือเข็มจักรระบบ 15×1 และ ระบบ 206×13 ในส่วนเข็มจักร 206×13 เป็นเข็มจักรที่มีลักษณะเหมือนเข็มระบบ 15×1 ที่ใช้กับหัวดำแต่ปลายเข็มสั้น และเข็มจักรระบบ 206×13 สามารถนำมาใช้กับจักรหัวดำทั่วไปได้ แต่เข็มจักรหัวดำระบบ 15×1 ไม่สามารถนำมาใช้กับเข็มจักรระบบ 206×13 ได้ ตัวอย่างจักรที่ใช้เข็ม 206×13 เช่น Singer 306k และจักร Singer Model 206,306,319,320 เป็นต้น

เข็มจักรทั้งสองระบบนี้แบบนี้ยังพอหาซื้อได้ทั่วไปจากต่างประเทศ ในรูปเป็นเข็มเยอร์มันยี่ห้อ Schmetz ระบบ 206×13 แต่สังเกตุว่า เข็มจักรระบบ 206×13 ตรงปลายสายเริ่มตั้งแต่ตาเข็ม (Eye) จนถึงปลายเข็ม (Point ) จะสั้นกว่าเข็ม 15×1

ส่วนเข็มก้นแบนระบบ 15×1 หรือ 2020, 130 / 705H, HAx1, HA เป็นเข็มที่ใช้กับจักรหัวดำได้เป็นส่วนใหญ่ แต่เข็มที่เป็นเข็มแท้ๆ ได้มาตฐานจะหายาก และมีของปลอมขายในตลาดทั่วไปจำนวนมากในราคาไม่แพง แต่หากนำมาใช้ก็ทำให้ด้ายกระโดด และที่หนักกว่าคือเข็มบิดงอไม่ได้มาตฐาน ลงไปทิ่มกลไกจักรด้านล่างทำให้จักรเสียหายได้

เมื่อพูดถึงเข็มแท้สมัยก่อนจะมีเข็มยี่ห้อต่างๆออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าหลากหลายยี่ห้อ แต่ปัจจุบันมีเข็มจักรไม่กี่ยี่ห้อที่เห็นคือ เข็มเยอรมัน schmetz เข็ม organ เข็ม Singer ก้นทอง ในซองพาสติกสีแดง และเข็มจากจีนหรือไต้หวัน ที่มีวางขายทั่วไป

เนื่องจากมีเข็มปลอมปนขายในท้องตลาดอยู่ในซองยี่ห้อดังๆ แล้วข้อแตกต่างระหว่างเข็มปลอมและเข็มแท้คืออะไร ในรูปผมลองเอาเข็มเก่าเก็บที่หาได้จากที่ต่างๆมาเปรียบเทียบกับเข็ม Singer รุ่นใหม่ที่เป็นเข็มทองกัน และมาดูเข็มที่ไม่ได้คุณภาพหรือเข็มที่ซื้อในราคาถูกทั่วไปกันนะครับ

หากเอาเข็ม Singer รุ่นเก่า รุ่นใหม่ มาว่างเทียบกัน สังเกตุได้ว่าที่ก้นเข็ม Singer รุ่นใหม่จะไม่แบนเรียนเท่ากับเข็ม Singer สมัยก่อน แต่การใช้งานก็มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน

เข็มที่ไม่ได้มาตฐาน

การซื้อเข็มหากซื้อจากร้านที่ไม่รู้จักรก็ต้องระวังเข็มจักรที่ไม่ได้มาตฐาน คือซื้อมาแล้วอาจจะใช้ได้ 1 เล่มหรือใช้ไม่ได้เลย ใช้ไปแล้วฝีเข็มกระโดด ผู้ใช้มือใหม่อาจจะคิดว่าเป็นปัญหาที่จักร เข็มดังกล่าวจะขายในราคาถูก เป็นเข็มที่ไม่ได้มาตฐาน ส่วนใหญ่จะเลียนแบบยี่ห้อดังๆ ในรูปด้านล่างจะเห็นว่าก้นเข็มที่ไม่ได้มาตฐานจะไม่แบนเรียบเหมือนเข็มที่ได้มาตฐานและรูตาเข็มไม่คงที่ บางอันมีความคม เมื่อนำมาใช้แล้วทำให้ด้ายกระโดดหรือด้ายขาด เย็บไม่ต่อเนื่อง

เปรียบเทียบเข็มจักรรุ่นเก่าและใหม่

เมื่อเอาเข็มจักรรุ่นเก่ายี่ห้อต่างๆ มาวางเทียบกันเองเห็นว่าที่ก้นเข็มจะแบนและกว้างทำให้แนบสนิทกับเสาเข็ม รูตาเข็มจะกว้างตามขนาดเข็ม ดูเรียบเนียน ได้มาตฐานทุกเข็ม และเข็มที่เป็นเข็มเก่าเนื้อเข็มจะเป็นสีออกสีรมดำไม่ขาวสว่างเหมือนเข็มในปัจจุบัน

สังเกตุเห็นว่าเมื่อนำเข็มรุ่นเก่ายี่ห้อต่าง มาวางเทียบกับเข็มรุ่นใหม่อย่าง Singer ก้นทองสังเกตุว่า Singer ก้นทอง ที่ก้นเข็มข้างที่แบนจะไม่แบนมาก และตัดส่วนแบนไม่กว้างเท่าเข็มจักรสมัยก่อน แต่ก็แบนเรียบกว่าเข็มที่ไม่ได้มาตฐาน จากการเปรียบเทียบทำให้พอจะรู้ได้ว่าเข็มที่ได้มาตฐานจะต้องตรงไม่บิดงอ รูตาเข็มไม่คม ด้ายผ่านได้โดยสะดวกไม่บาดด้ายขาด ก้นเข็มจะแบนเรียบ ถ้เนื้อเข็มดีสีเข็มจะออกสีรมดำ

รหัสเข็มต่างๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน

HA (15×1) : จักรเล็ก
DB : จักรอุตสาหกรรม
DC : จักรโพ้งอุตสาหกรรม
DP : จักรหัวใหญ่/จักรอุตสหกรรมซิงเกอร์/จักรเข็มคู่
DV : จักรลาชาย
UY : จักรลาชาย
UO : จักรลายาง
TQ : จักรติดกระดุม
LW : จักรสอย

DB : จักรอุตสาหกรรม

ปกติจักรเล็กหรือจักรบ้านจะต้องใช้เข็มจักรรหัส HA ซึ่งเข็มที่ใช้รหัส HA นี้ จะเป็นเบอร์เล็กขนาดที่หาได้ทั่วไปคือ 9-16 ใหญ่สุดก็เบอร์ 18 ถ้าเป็นเข็มแท้ยี่ห้อดังๆได้มาตฐาน เบอร์ 18 จะหายากมากแล้ว หากเราต้องการเย็บยีนส์หรือผ้าแคนวาส หรือผ้าแคนวาสประกบหนังหรือสายผ้า ผ้ายีนส์ที่ประกบกันหลายๆชั้นซึ่งต้องใช้เข็มเบอร์ใหญ่กว่า 18 เช่นเบอร์ 20 21 22 ก็ต้องใช้เข็มจักรอุตสาหกรรมรหัส DB แทน หากจะใช้เข็ม DB ในจักรบ้านก็ต้องปรับแต่งโรตารี่ในจักรเย็บผ้าเพื่อให้ใช้กับเข็ม DB ได้ หากใครสนใจเอาจักรบ้านหัวดำรุ่นเก่าที่ใช้เข็มก้นแบนมาดัดแปลงเพื่อให้ใช้กับเข็ม DB ก็ลองหาช่างจักรให้ดัดแปลงนะครับเพราะมันเกี่ยวข้องกับระยะชิดและระยะเกี่ยวด้ายในโรตารี

ตัวอย่างการประยุกต์ ผมมีจักรอุตสาหกรรมตัวหนึ่งตัวนี้ใช้เข็มที่แปลกเข็มจะยาวกว่าเข็มทั่วไปและเป็นเข็มหายาก เป็นจักรอุตสาหกรรม Singer ตีนตะกุยในระบบข้อเหวี่ยง เมื่อดูชุดโรตารีแล้วสามารถเอาโรตารีของจักรบ้านหัวดำมาประยุกต์ใส่ได้

เข็มด้านซ้ายมือเป็นเข็มที่ใช้กับจักรอุตสาหกรรม singer ตีนตะกุยในระบบข้อเหวียง

เนื่องจากเข็มที่จะใช้กับจักรรุ่นนี้เป็นเข็มเฉพาะค่อนข้างหายาก เลยต้องเอาโรตาลี่ชุดจักรบ้านหัวดำมาใส่ และปรับแต่งชุดโรตาลี่จักรบ้านหัวดำที่ใช้สำหรับเข็มก้นแบบ แต่งเพื่อให้ใช้กับเข็มจักรอุตสาหกรรม DB ได้ เพราะงานเย็บหนาเข็มเบอร์ใหญ่เข็มจักรอุตสาหกรรมจะหาได้ง่ายกว่า เมื่อทำเสร็จแล้วก็สามารถใช้กับเข็มก้นแบบหรือเข็มจักร DB ได้แต่ต้องเลือกปรับใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเนื่องจากเป็นงานเย็บหนาผมเลยปรับให้ใช้กับเข็มอุตสาหกรรม DB

เข็มบายพายรหัส HA

ยังมีเข็มจักรอีกประเภทหนึ่ง เป็นเข็มเก่าปลายเข็มแบบบายพายคือบิดที่ปลายเข็ม ที่ผมบังเอิญไปเจอมาเป็นเข็มเก่าเก็บ รหัสเข็มคือรหัส HA ที่มีก้นแบน 1 ด้าน เบอร์ 18 แต่ปลายเข็มบิดเฉียงแบบนี้ ทำให้เวลาเย็บแล้วฝีเข็มที่ได้จะเฉียงสวยงามไปอีกแบบ

เข็มจักรรหัส HA ฝีเข็มเฉียง

ก็เป็นอันจบรีวิวเรื่องเข็มนะครับ แนะนำถ้าลูกค้าจะใช้งานเข็มซักเล่มจึงควรหาซื้อเข็มจักรแท้หรือเข็มจักรที่ได้มาตฐานสังเกตุได้จากที่ผมรีวิวด้านบน แต่หากไม่รู้จะซื้อเข็มจักร หรืออุปกรณ์จักรเย็บผ้าที่เป็นของแท้เก่าเก็บที่ไหน สอบถามเข้ามาได้ครับผมหาซื้อได้ทั้งของแท้และของเทียบ รวมถึงตีนผี วงเดือนต่างๆ น้ำมันหยอดจักรและอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวกับจักรเย็บผ้า หรือหากสนใจเข็มรุ่นเก่ามากกว่า 20-30 ปี ทางผมพอจะมีแบ่งให้เอาไว้ใช้งานหรือเก็บสะสม ซึ่งมีไม่ค่อยเยอะ มีจำนวนจำกัดบางยี่ห้อมีแค่ 1-2 ซองครับ สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ line:wit-san ครับ

Comments are closed

Comments are closed.