Singer 631g Slant O Matic

4Dec

POSTED BY

The Singer 631G, “The Best Machine Ever Made by SINGER”

ใครที่ชื่นชอบจักรเย็บผ้าโบราณวันนี้มีจักรที่หายากมานำเสนอ เป็นจักรที่ผลิตในปี 1964-1967 อายุก็ประมาณ 50-60 ปี ที่ว่าหากยากเพราะผลิตออกมาน้อยมากๆ เป็นจักร Singer รุ่น 631G ที่พัฒนาต่อจากรุ่นยอดนิยมอย่าง Singer 431G ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้ผลิตในประเทศเยอรมัน กลไกภายในและฐานจักรเป็น Free Arm เหมือนกันทั้งรุ่น 631G และรุ่น 431G เป็นจักรเสาเข็มเฉียง มีระบบซิกแซกลวดลายในตัวจักรและสามารถใส่ลวดลายเพิ่มเติมได้ สงสัยใหม่ว่าทำไมจักร Singer รุ่น 431 631 Free Arm เป็นจักรที่ดีน่าจะขายได้ดีแต่ทำไมผลิตมาน้อย

Singer 431 631 ทำไมผลิตมาน้อย?

รุ่นตะกูล Free Arm ลงท้ายด้วย G เช่น 431G 631G จะหายากเป็นพิเศษที่ว่าหากยากนั้นเพราะผลิตมาน้อยโดย เหตุผลไม่ค่อยแน่ชัดแต่เท่าทีหาข้อมูลมาได้คือ จักรที่ลงท้ายด้วย G หรือจักรจากประเทศเยอรมัน โดยในรุ่นพื้นราบ 411G ถูกนำมาวางขายในจำนวนจำกัดโซนยุโรป เนื่องจากจักร Singer ที่ผลิตในอเมริกาที่ลงท้ายด้วยตัว A ก็ยังมีวางขายอยู่ในขณะนั้น และตัวที่เป็น Free Arm ในตอนนั้นผลิตได้เฉพาะประเทศเยอรมัน คือรุ่น Singer 431G ก็โดนสิทธิบัตรห้ามวางขายในอเมริกา เหตุผลคือตอนนั้นยุโรปมีจักร Singer ที่ผลิตในประเทศและกำลังออกจักรรุ่นใหม่คือ Singer 5xx A Series หากนำรุ่น Free Arm นำมาจำหน่ายก็จะทำให้จักร Singer รุ่น 5xx A make in America ขายไม่ออกทำให้จักรที่ลงท้ายด้วย G วางขายได้เฉาะในประเทศเยอรมันจึงถูกผลิตออกมาน้อย และรุ่นออกใหม่อย่าง 6xxG ที่ลงท้ายด้วยตัว G ก็วางขายได้แค่ในอเมริกาเหนือเท่านั้น ทำให้ Singer รุ่น 631G ถูกผลิตออกมาน้อยมากๆ ที่หลุดมาขายในยุโรปได้ก็ต้องมีเอกชนนำเข้ามาให้ และภายหลัง Singer ถูกจักรเย็บผ้าญี่ปุ่นบางรุ่นที่สร้างให้มีราคาถูกมาแข่งเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าทำให้บริษัท Singer ต้องลดต้นทุนโดยการนำพาสติกมาผสมในกลไกจักรในรุ่นถัดไป

ถ้าเรียกฉายาจักร Singer 201-2 ระบบเฟืองเกียร์เหล็กเดินจักรได้นิ่มนวล ว่า Rolls Royce of Singer แล้วล่ะก็ จักร Singer 631g รุ่นนี้ที่เป็นระบบเฟืองเกียร์เหล็กและใช้มอเตอร์ขับกลไกจักรโดยตรงเหมือนกับจักร Singer 201-2 ก็นับเป็น Rolls Royce of Singer รุ่นถัดมา ที่ถูกพัฒนาต่อยอดอีกตัวหนึ่ง การพัฒนาเริ่มต้นจาก Singer 201 พัฒนาใหม่ให้เป็น –> Singer 3xxA—>,4xxG –> จนมาเป็น Singer 631g ที่ผลิตมาน้อย พร้อมเสริมเขียวเล็บ เพิ่มฟังก์ชั่นลูกเล่นต่างๆ และยังเป็นแบบ Free Arm อีกด้วย

Singer 301 the first slant shank

เรามารูัจักจักรเสาเข็มเฉียงรุ่นแรกกันก่อน คือจักร Singer 301 เป็นจักรในกลุ่มเสาเข็มเฉียงที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อปฏิวัติวงการจักรเย็บผ้า เปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบจักรเย็บผ้า จากการออกแบบจักรเย็บผ้ารุ่นเก่าทรงเดิมๆที่มีมานาน ให้เป็นจักรเย็บผ้าแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ที่เด่นๆเลยคือพัฒนาให้มีเสาเข็มเฉียง จักรแบบเสาเข็มเฉียงตัวแรกของโลกคือ Singer 301 ที่ผลิตออกมาแล้วได้รับคำชมมากมาย แถมยังเป็นจักรที่ขายดีแซงหน้าจักรยอดนิยมอย่าง Singer 201/201K และ Singer 221 and 221K Featherweights

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ About Singer 301 –> http://www.singer301.com/about/default.html

ตะกูลจักรเย็บผ้าที่เป็น Slant-Needle ได้แก่รุ่น first slant shank ; 301, 301A, Slant-O-Matic; 404, 401, 401A, 403, 411G, 414, 421G, 423, 431G,432,611G,631G Rocketeers; 500, 500A, 503, Touch & Sew; 600, 600E, 603, 604, 609, 620, 625, 626, 628, 629, 630, 635, 636, 638, 640, 645, 646, 648, 649, 714, 734, 750, 756, 758, 770, 774, 775, 776, Futura; 900, 920, 925, 1000, 1030, 1036, 1100, 1200, 1411, 1425, Athena; 2000, 2000A, Touch-Tronic; 2001, 2005, 2010, 30920, 4552, 4562, 4572, 4610, 4622, 5910, 6233, 6234, 6235, 6267, 6268, 6740, 6800, 6900, 7028, 8019, 9005, 9008, 9010, 9012, 9015, 9018, 9020, 9022, 9027, 9030, 9032, 9044, 9123, 9133, 9135, 9137, 9143, 9210, 9217, 9224, 9240, 9400, 9408, 9410, 9416, 9417, 9420, 9423, 9430, 9432, 9440, 9444, 9900.

แต่จักรเสาเข็มเฉียงที่เป็นตัวท๊อบๆในยุคนั้น (1957-1965) เช่น Singer 301a the first slant shank , 411 & 431 403A 611G 631G Slant-O-Matics, 500a Rocketeers หรือ Singer 600,600e และ 670g Touch and Sew ตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นจักร Singer แบบเสาเข็มเฉียง ถ้าลงท้ายรุ่นด้วยตัว A จะเป็นจักรที่ผลิตที่ประเทศอเมริกา ถ้าลงท้ายรุ่นด้วยตัว G จะเป็นที่ผลิตในประเทศเยอรมัน ใช้กลไกภายในเป็นเหล็กทั้งตัว

ก่อนจะมาเจอจักรรุ่นนี้ก็เริ่มจากศึกษาข้อมูลจักรที่ http://www.singer301.com/ เนื่องจากชอบจักร Singer เป็นพิเศษเพราะเป็นจักรยอดนิยมในสมัยนั้น ผลิตมาจำนวนมากมีอะไหล่มากมายที่ทดแทนกันได้ ทำให้ยังหาอะไหล่เปลี่ยนได้ตลอด ตรงนี้สำคัญถ้าจักรที่ไม่ได้มีไว้โชว์ควรมีอะไหล่ไว้ซ่อมได้เมื่อจักรพัง มีรุ่นใกล้เคียงกันที่ใช้อะไหล่เดียวกันได้ โดยสามารถหาซื้อได้ทั่วไปไม่ผูกขายอยู่ไม่กี่เจ้า

จักร Singer มักจะออกแบบฟังก์ชั่นจักรใหม่ๆแบบจัดเต็ม ให้ค่ายอื่นได้ทำตามหรือมักจะเป็นจักรต้นแบบ จึงหาข้อมูลจักร Singer ที่มีฟังก์ชั่นที่ดี แข็งแกร่ง หรือถูกออกแบบมาให้ไม่มีวันพังหากดูแลรักษาดีๆ จะต้องไม่สำรองอะไหล่เก็บไว้ ถ้าเป็นจักรที่ใช้อะไหล่ที่มีสายพาน สายเชือก เฟืองพาสติก หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ อาจต้องหาอะไหล่สำรองมาเก็บไว้รอเปลี่ยน เพราะอะไหล่ไม่มีผลิตอีกแล้ว อาจต้องซื้ออะไหล่แพงกว่าตัวจักรหรือต้องซื้อไว้สำรองเผื่อใช้ในอนาคต

เมื่อได้ศึกษาข้อมูลจักร Singer หลายรุ่น แต่ถูกใจรูปทรงของจักร Singer 631g ฐานแบบ Free arm ในตะกูลเสาเข็มเฉียง Series Slant-O-Matic รูปทรงแบบ Touch and Sew ที่เป็นระบบเฟืองเกียร์เหล็กพร้อมฟังก์ชั่นที่จัดเต็มรุ่นสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นระบบเฟืองพาสติกหรือลดฟังก์ชั่นในรุ่นถัดไป แต่ปัญหาคือหาซื้อไม่ได้ จึงไปหาซื้อ Singer 611G ก่อนเพราะยังมีขาย แต่ก็ยังคงรอคอยตามหา Singer 631G อยู่เพราะต้องการจักรเสาเข็มเฉียง ฐานจักรที่เป็นแบบ Free arm และไม่ใช้กลไกเชือก หรือสายพานหรือ เฟืองพาสติก ในกลไกจักร

จักร Singer 631g Slant O Matic

โดยส่วนใหญ่จักรในตะกูล Slant O Matic ตัวปรับเลือกลายจะเป็นวงกลมตัว O เช่นรุ่น Singer 4xx ถ้าเป็นตะกูล Singer 5xx Rocketeers ตัวปรับลายจักรจะมีรูปทรงคล้ายๆกับยานอวกาศในการ์ตูนสมัยก่อน ส่วนตะกูล Touch and Sew ตรงที่ปรับลายจักรก็จะมีปุ่มให้กดเลื่อน จึงสังเกตุได้ว่าจักร Singer 631g เป็นจักรในตะกูล Slant O Matic แต่มีรูปทรงแบบ Touch and Sew จักร Singer 631g พัฒนามาจากจักร Singer 431G เป็นจักรระบบกลไกซิกแซก และเป็นเฟืองเกียร์เหล็ก ที่มีฐานจักรเป็นแบบ Free Arm ไม่มีสายพานเชือก ซึ่งจักรซิกแซก ฐาน Free Arm ที่เป็นระบบแบบนี้มีอยู่ไม่กี่ตัวในโลก ส่วนใหญ่จะใช้กลไกผสมระหว่างสายพานเชือกและเฟืองเกียร์เหล็ก (metal gear) หรือเป็นกลไกแบบข้อเหวี่ยงเหมือนในจักรหัวดำพื้นบ้าน กลไกข้อเหวียงเมื่อเดินจักรเร็วทำให้จักรสั่นและมีเสียงดังไม่นิ่มนวลเหมือนพวกเฟืองเกียร์หรือสายพาน

คุณสมบัติที่พิเศษของจักร Singer 631g

จักรรุ่นนี้เป็นรุ่น Slant O Matic ที่พัฒนามาให้เป็นแบบ Touch and Sew คือแค่กดปุ่มเลือกลวดลายแล้วก็เย็บ เป็นความคิดที่ทันสมัยของนักออกแบบยุคนั้น 50-60 ปีที่แล้ว ผู้ออกแบบอาจมองว่าในอนาคตการใช้งานจักรเย็บผ้าเพียงแค่กดปุ่มเลือกเท่านั้นไม่ต้องไปทำอะไรที่ซับซ้อน ซึ่งจักรคอมสมัยใหม่ก็มีปุ่มให้กดเลือกเช่นกัน

คุณสมบัติเด่นๆที่ดูทันสมัยในยุคนั้น (ช่วงปี 1960s) ที่สืบถอดมาจาก Singer 301 แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นได้แก่ *เสาเข็มแบบเฉียง* *เย็บได้ทั้งแบบ ตรง ซิกแซกและ แบบลูกโซ่* *ใส่เข็มได้สองเข็มขนาดที่แตกต่างกัน* *แผ่นรองจักรหลากหลายถอดเปลี่ยนได้ง่าย* *น้ำหนักตีนผีที่ปรับตามตัวเลขได้ง่าย* *ที่วางด้ายแนวนอนล็อกไม่ให้ดิ้นหลุดได้ง่าย* *ควบคุมความยาวฝีเข็มได้ง่าย* *มอเตอร์ที่ขับเคลื่อนกลไกโดยตรงไม่มีสายพาน* *หลอดไฟที่ถอดเปลี่ยนได้ง่าย* *กลไกของจักรถูกซ่อนภายในบอดี* *ตีนผีที่หลากหลาย* *ตารางโชว์ลวดลายซิกแซก* * Specials Disk ลวดลายเพิ่ม* *กระสวยนอนเปิดดูด้ายได้ง่าย* และอื่นๆ ดูเหมือนคนออกแบบคิดระบบอะไรดีๆได้ก็จัดใส่ให้เต็มๆแบบไม่มีกั๊กไว้ใส่รุ่นถัดไป

สามารถเย็บ Chain Stitch ได้

จักร Singer 631g นี้สามารถเย็บลูกโซ่ Chain Stitch ได้ การเย็บเย็บแบบลูกโซ่นี้เป็นลักษณะการเย็บที่ไม่แข็งแรง กล่าวคือมีโอกาสที่จะหลุดได้ง่ายกว่าแบบอื่นหากขาดที่จุดใดจุดหนึ่งการเย็บแบบนี้จะได้ความเป็น Original ของการเย็บแบบโบราณ ในการเย็บแบบปกติหากต้องการเย็บชั่วคราวเมื่อเย็บแล้วเมื่อต้องการเลาะด้ายออกจะเลาะยาก โดยเฉพาะเมื่อเย็บถี่มาก ส่วนการเย็บแบบลูกโซ่จะคล้ายๆกับเย็บถุงกระสอบเมื่อตัดด้ายแล้วสามารถดึงรวดเดียวให้ด้ายหลุดทั้งหมดได้ ข้อดีที่เมื่อเย็บแบบนี้อีกอย่างก็คือ สามารถนำมาเนาผ้าเพื่อล็อกไม่ให้ผ้าดิ้นโดยเลือกฝีเข็มยาวๆแล้วเย็บลูกโซ่ จากนั้นก็เย็บฝีเข็มปกติ แล้วเลาะลูกโซ่ที่เนาไว้ออกได้ง่าย

การเย็บที่เหมาะสำหรับเย็บแบบลูกโซ่อีกอย่างหนึ่งคือ การเย็บที่มีโอกาสเปลี่ยนหรือเลาะออกในอนาคต ตัวอย่างเช่น การเย็บซิปซ่อนที่ต้องเลาะออกทุกครั้ง หรือในงานเช่าชุดไทยที่ส่วนแขน ส่วนด้านข้างช่วงตัว กว้างไป ก็ใช้การเย็บแบบลูกโซ่เย็บชั่วคราวให้แคบเข้ามาได้ เมื่อใช้เสร็จแล้วก็เลาะออกได้ง่าย หรือจะใช้เย็บขอบเอวและขากางเกง เย็บชุดชั้นในสตรีและชายของผ้าไตรคอตหรือผ้าลูกโซ่ เมื่อเปลี่ยนยางยืดก็เลาะออกโดยง่าย การเย็บด้วยวิธีเย็บแบบลูกโซ่ในจักร Singer 631g คือไม่จำเป็นต้องใส่ด้ายที่ถ้วยกระสวยด้านล่างทำให้ไม่ต้องกรอด้ายช่วยให้การประหยัดเวลาอีกด้วย

ฐานจักร Free arm

Singer 631g ฐานจักรปรับเป็น Free Arm ได้เหมาะสำหรับเย็บวัสดุทรงกระบอก ปกติการเย็บขากางเกง เปลี่ยนยางยืดเอว เย็บแขนเสื้อ หรือการเย็บกระเป๋าที่ต้องสวมเข้าไปได้ถ้าใช้จักรพื้นราบต้องแผ่ชิ้นงานทำให้เย็บไม่สะดวกถ้าถ้าสวมเข้าไปลึกๆอาจต้องเลาะทั้งหมดแล้วเย็บ โดยเฉพาะการเย็บกระเป๋าหนังซึ่งแผ่เย็บกับจักรพื้นราบไม่สะดวกโอกาสเย็บพลาดสูงจึงต้องใช้จักรที่ฐานจักรเป็นแบบ Free Arm

ฐานจักรแบบ Free Arm จะใช้ประโยชน์ได้เยอะกว่าฐานจักรแบบเรียบ โดยเฉพาะรุ่น 631g นี้ฐานจักร Free Arm ไม่มีฐานกั้นที่ด้านล่างเมื่อยื่นออกนอกโต๊ะโดยการนำโต๊ะมาต่อให้เหลือช่องว่างที่ฐาน Free Arm ทำให้สามารถสอดชิ้นงานทรงกระบอกที่หนาๆได้

รูปทรงจักรที่สวยงาม

รูปทรงจักรเย็บผ้าเปรียบเสมือนเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งของนักออกแบบในสมัยนั้น ที่ต้องระดมความคิดว่าจะทำยังไงให้การออกแบบรูปทรงจักรเย็บผ้าดูสวยงาม ทันสมัย ให้ผู้ใช้ ใช้งานได้ง่าย ซึ่งจักรเก่าแต่ล่ะรุ่นแต่ล่ะยี่ห้อการออกแบบก็แตกต่างกันไป

จักรเย็บผ้ารุ่น Singer 631g ตัวเครื่องเป็นสีขาว ขึ้นโครง body ด้วยอลูมิเนียม การออกแบบทำได้สวยงาม มีน้ำหนักเบากว่าจักรที่เป็นเหล็กหล่อทั้งตัว กลไกทุกอย่างรวมถึงมอเตอร์ถูกซ่อนไว้ในตัวจักร ผู้ใช้งานจะเห็นแค่ตัวจักร ไม่เห็นมอเตอร์ สายพาน หรือไฟส่องชิ้นงานออกมานอกตัวจักร ส่วนเว้าส่วนโค้งเหมาะสม มองสวยในทุกมุม ใช้งานได้สะดวก ปุ่มปรับต่างๆอยู่ตรงหน้าของผู้ใช้งาน ใช้เสาเข็มแบบเฉียงเพื่อให้ชิ้นงานอยู่ใกล้ผู้ใช้งานมากที่สุดยื่นออกมานอกเครื่องให้ได้มากที่สุดทำให้มองเห็นชิ้นงานได้ชัดเจน จะมีข้อเสียแต่กระเป๋าที่แถมมาเป็นกระเป๋าแบบครอบ มีตัวเกี่ยวพาสติกไว้เกี่ยวกับฐานจักรทั้งสองด้าน เมื่อยกแล้วก็รู้สึกไม่มั่นคงดูเหมือนจักรจะหล่นได้ง่าย อุ้มตัวจักรยังรู้สึกปลอดภัยกว่า

ปุ่มกดเลือกลายเย็บที่อยู่ด้านหน้ามีสองปุ่ม เทคนิคในการกดปุ่มคือจะต้องกดปุ่มใหญ่ที่หน้ากากด้านหน้าแช่ไว้ก่อนแล้วค่อยมากดเลือกปุ่มสองปุ่ม จะทำให้กดได้ง่าย จุดนี้ทำมาเพื่อป้องกันการกดปุ่มด้านหน้าสองปุ่มแบบไม่ตั้งใจในระหว่างเย็บ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่มีจักรรุ่นนี้มักจะไม่รู้ จะพยายามกดปุ่มสองปุ่มเพื่อเลือกลายทันที ทำให้ตัวปุ่มสีขาวที่ทำด้วยพาสติกเสียหายได้ง่าย

จักรระบบกระสวยหงาย

เคยสังเกตุไหมว่าทำไมจักรรุ่นเก่าๆในระบบกระสวยหงายจึงมีเฉพาะในยี่ห้อ SINGER เป็นเพราะจักร SINGER เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาแล้วจดลิขสิทธิ์ไว้ทำให้ไม่มีจักรยี่ห้อไหนสามารถทำจักรระบบกระสวยหงายขึ้นมาได้ทำให้จักรกระสวยหงายมีเฉพาะในยี่ห้อ SINGER แต่อาจจะเห็นจักรกระสวยหงายในบางยี่ห้อที่ลิขสิทธิ์ครอบครุมไม่ถึงซึ่งมีน้อยมากๆ ระบบกระสวยหงายออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้วางแผนการเย็บได้ง่าย เปิดมองด้ายด้านล่างได้สะดวก

ระบบกระสวยหงายบางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ แต่ที่ได้ลองใช้ทั้งสองระบบคือกระสวยตั้งและกระสวยหงายเมื่อใช้ลูกกระสวยที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพก็ไม่ต่างกัน จมสวยแน่นทั้งคู่ ถ้าเป็นจักรที่เป็นกลไกเหล็กเย็บหนาได้ทั้งสองระบบก็เย็บหนาได้ดีทั้งคู่ Singer 631g เป็นจักรซิกแซกระบบกระสวยหงาย ความยาวตะเข็บ 4 มิล ปรับแซกได้กว้างสุดที่ 5 มิล ซึ่งเป็นฝีเข็มซิกแซกที่มีความกว้างเป็นมาตฐานทั่วไป

จักรรุ่น 631g ของ Singer เป็นระบบกระสวยหงายที่พัฒนามาได้ดีกว่าจักรกระสวยหงายรุ่นแรกอย่างจักร Singer 201 และเป็นต้นแบบที่ใช้มาได้ดีจนถึงจักรรุ่นใหม่ๆในปัจจุบันทำให้อะไหล่สามารถยังหาได้ในปัจจุบัน ที่พัฒนามาเป็นกระสวยหงายเพราะทำให้ผู้ใช้งานใช้งานได้ง่าย ถอดถ้วยกระสวย ปรับความหนืดด้ายด้านล่างได้ง่าย ใส่ด้ายที่กระสวยด้านล่างได้สะดวก เมื่อใช้ถ้วยเหล็กที่มีรูให้มองเห็นด้าย หรือถ้วยกระสวยพาสติกแบบใส ทำให้ในระหว่างการเย็บสามารถเปิดดูด้ายที่กระสวยด้านล่างได้ว่าด้ายหมดหรือยัง ไม่ต้องคอยล้วงมือไปถอดออกมาดู หรือหงายจักรยกขึ้นมาถอดดู เหมือนจักรกระสวยตั้ง ซึ่งช่วยในการวางแผนการเย็บได้ เหมาะสำหรับงานที่ต้องเย็บต่อเนื่อง ส่วนคุณสมบัติอื่นๆของจักรรุ่น Singer 631g นี้เหมือนกันกับ Singer 611g สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ —-> SINGER 611g

ใส้กระสวยจักร

ตัวใส้กระสวย (Bobbin) ที่ใช้ของจักร SINGER 631g และ Singer 66, 99, 185, 201, 400s, 500s เป็นแบบ Class 66 มีทั้งแบบพาสติกและแบบเหล็ก

ใส้กระสวยแปดรูรูปแรกสำหรับ Singer Featherweights, 301 และใส้กระสวยยอดนิยมคือ Class 15 ที่สามารถใส่จักร Singer Model 15 และจักรญี่ปุ่นได้เกือบทุกตัว

เย็บหนาด้วยฝีเข็มตรง

ในวีดีโอด้านล่าง เป็นการเทสเย็บยีนส์พับ 8 ทบ ด้วยฝีเข็มตรง ปกติจักรเย็บผ้าที่สามารถเย็บซิกแซกได้ ที่เสาเข็มของจักรแซกทุกรุ่นจะโยกได้ไม่แข็งแรงเท่าจักรที่เย็บตรงได้อย่างเดียว เมื่อนำจักรซิกแซกมาเย็บงานหนาๆฝีเข็มที่ได้จะไม่ตรงเป๊ะ แต่จะตรงบ้าง และบางฝีเข็มก็จะเอียงบ้างเป็นปกติของจักรซิกแซก แต่ใช้ไม่ได้กับ Singer 631G เพราะตัวนี้เป็นจักรซิกแซกแต่เสาเข็มแข็งแรงมากเย็บงานหนาด้วยฝีเข็มตรงเทียบกับจักร Pfaff30 ฝีเข็มค่อนข้างตรงสวยใกล้เคียงจักรเย็บตรงเช่นจักร pfaff 30 ที่เป็นจักรเย็บตรงอย่างเดียวและเสาเข็มไม่โยก

ซื้อ Singer 631g จักรบนอีเบย์

นั่งหาข้อมูลบนเว็บไซต์อีเบย์ไปเรื่อยๆพอดีเจอจักรที่ตามหามานานในสภาพดีน่าสะสมคือจักร Singer 631g ที่มีคนนำมาขายเข้าดูรูปและรายละเอียด ดูแล้วสภาพยังใหม่ และเจอคำว่า Make Offer ที่ให้ผู้ซื้อสามารถต่อรองราคาได้ จึงต่อราคาและมีค่าส่งอีกประมาณสามพันกว่าบาท ส่งผ่าน DHL สั่งวันที่ 25 พ.ย. วันที่ 2 ธ.ค. ก็ได้รับสินค้าแล้ว เร็วมาก.. ปกติถ้ารอสินค้าได้ใช้บริการชิปปิ้งคนไทยที่จัดส่งสินค้าอีเบย์ หรืออเมซอน ส่งทางเรือแบบเหมาตู้คอนเทรนเนอร์ค่าส่งจะถูกกว่านี้ จักรและค่าส่งจะถูกหรือแพงอยู่ที่คนขายหากเราเห็นว่าแพงไปก็สามารถดูผู้ขายคนอื่นๆได้ครับ

สามารถกด Make Offer เพื่อต่อรองราคาได้

จักรถูกแพคมาแน่นหนา กล่องและตัวจักรไม่มีรอยรอยบุบหรือแตกหัก อุปกรณ์และคู่มือที่ได้มาครบถ้วนสมบูรณ์ตามรูปที่ลงขาย รูปทรงจักรตัวจริงสวยกว่าในรูปสภาพใหม่ริ้วรอยแทบไม่มี ใหม่เหมือนเพิ่งถอยออกมาจากห้าง ตัวจักรดูตัวใหญ่กว่าจักรหัวดำทั่วไป

เมื่อได้จักรมาก็จัดการปัดกวาดเช็ดถู หยอดน้ำมันตามจุดที่เคลื่อนไหวต่างๆใส่จารบีที่เฟืองเกียร์เหล็กตรวจสอบระบบไฟฟ้าเป็นแบบ 110v หรือ 220v ถ้าเป็นระบบ 110v ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้า แต่จักรที่ได้มาเป็นระบบ 220v สามารถเสียบปลั๊กไฟที่บ้านได้เลย

อุปกรณ์ที่แถมมากับจักร

จักรรุ่น Singer 631g อุปกรณ์ที่แถมมากับตัวจักรค่อนข้างหลากหลาย มี plate แป้นรองตีนผีที่น่าใช้หลากหลาย เช่นแป้นรองตีนผีสำหรับเย็บฝีเข็มตรงเป็นแป้นเหมือนแป้นจักรเย็บตรงหัวดำทั่วไปข้อดีคือเมื่อเย็บผ้าบางมากๆ จักรแซกที่รูกว้างจะทำให้ผ้ายุบไปในรูแซกทำให้เย็บแล้วผ้าย่น ตรงส่วนฟันจักรที่ไว้ใส่แป้นเป็นแบบแม่เหล็กแค่นำแป้นไปวางก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ตีนผีที่แถมมามีหลากหลายเหมาะสำหรับการเย็บที่หลากหลาย เนื่องจากยังไม่เคยใช้ตีนผีบางตัวอาจต้องดูวิธีใช้ในคู่มืออีกที Specials Disk ที่ไว้เพิ่มลวดลายซิกแซกของจักรเย็บผ้ารุ่นนี้ ก็มีหลากหลาย ใส่ลายซิกแซกเพิ่มเติมจากกลไกซิกแซกสำเร็จรูปภายในตัวจักรได้ง่ายช่วยทำให้จักรเย็บลายซิกแซกได้หลากหลายมากขึ้น

แป้นที่มีรูเดียวสำหรับงานเย็บตรงประโยชน์อีกอย่างก็คือไว้ปรับตั้งเสาเข็มรุ่นนี้สามารถปรับ ตั้งเสาเข็มให้ชิดซ้าย ขวา หน้า หลัง ภายในรูเย็บตรงเล็กๆได้เอง เหมาะสำหรับให้ช่างหรือผู้ใช้ตั้งเสาเข็มให้ชิดโรตาลี่วงเดือนจักรในเบื้องต้นได้ (set Timing) ตามคู่มือ Service ของจักรรุ่นนี้

ลวดลายที่ติดมาในจักร

เมื่อเปิดฝาด้านบนจักรจะเห็นตารางการปรับลวดลายซิกแซกแบบต่างๆ โดยสามารถเลือกใช้ได้ง่ายเพียงแค่กดปุ่มเลือกให้ตรงตามรูปก็จะได้ลวดลายซิกแซกที่ต้องการ การเย็บสองเข็มหรือกดเพื่อเลื่อนเข็มให้ ชิดซ้าย กลาง ชิดขวา ได้ แถมยังใช้ลวดลายซิกแซกใหม่ๆที่ไม่มีในรูปเพียงแค่ใส่ Specials Disk ก็จะได้ลวดลายซิกแซกใน Disk แล้ว ลวดลายที่มีมาในเครื่องทั้งหมด 33 ลาย ใส่ Specials Disk ได้อีกประมาณ 10 กว่าลาย เท่านี้ก็เพียงพอให้ใช้งานได้แล้ว

ลายซิกแซกที่มีมาในตัวจักรก็ให้มาเยอะพอสมควร ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้ลายซิกแซกไม่เยอะหรือไม่ครบตามที่จักรให้มา ลวดลายเหล่านี้สมัยก่อนนำมาเย็บเป็นลวดลายติดไว้ที่เสื้อหรือชิ้นงานเพื่อให้ชินงานดูสวยแปลกตาออกไป เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีการสกรีนสีที่ตัวผ้า จึงใช้ลายจักรแทนโดยเย็บลวดลายเป็นเส้นเรียงให้สวยงาม รูปด้านล่างเป็น

ตัวอย่างการประยุกต์เย็บลวดลายจักร

กล่องใส่อุปกรณ์จักร

จักรรุ่นนี้ไม่มีกล่องใส่อุปกรณ์แยกออกมาต่างหาก สามารถเปิดกล่องต่อฐานจักรที่ทำจากเหล็กอลูมิเนียมไว้เก็บอุปกรณ์ได้เลย ฐานกล่องใส่อุปกรณ์จักรสามารถเลื่อนประกบที่ฐานจักรเพื่อให้กลายเป็นฐานจักรพื้นราบได้ถ้าต้องการถอดออกก็แค่กดปุ่มแล้วเลื่อนออกมา ฐานจักรสามารถใส่อุปกรณ์จักรได้ทำให้พกพาได้สะดวก

กลไกจักรทำด้วยเหล็กเยอรมันอย่างดี

คนสมัยก่อนสร้างจักรเย็บผ้าขึ้นมาเพื่อชื่อเสียงมากกว่าสร้างขึ้นมาเพื่อให้พังได้ง่ายแล้วขายรุ่นใหม่ จักรรุ่นนี้สร้างมาไม่ให้มีวันพังหากผู้ใช้ดูแลดี รวมถึงการใช้งานที่ถูกต้องหมั่นใส่น้ำมันและจารบีจะทำให้จักรใช้งานได้นาน กลไกทุกชิ้นทำด้วยเหล็กกล้าเยอรมันอย่างดี ออกแบบในพื้นที่ขนาดเล็กได้ดี ฟันจักรที่เยอะ และเฟืองเกลียวทำด้วยเหล็กกล้าแบบเฉียงทำให้มีแรงขับเคลื่อนสำหรับการเย็บงานหนาๆได้ดีมาก ถ้าดูแลรักษาดีๆจะไม่มีส่วนไหนของจักรเลยที่มีวันพัง เพราะไม่มีพวกเฟืองพาสติก สายพานเชือก หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ใช้งานจักรจึงไม่ต้องหาซื้ออะไหล่ต่างๆไว้สำรอง เพราะอะไหล่เหล่านี้ไม่มีผลิตแล้ว และในอนาคตอะไหล่จะยิ่งมีราคาแพง

เนื่องจากกลไกเป็นเหล็กกล้าอย่างดีสามารถเย็บหนาได้สบาย รูปภาพจาก internet

จักรสามารถใช้ได้ทั้งมอเตอร์และจักรสายพานเท้าถีบ

จักรถูกออกแบบมาให้ใช้ได้ทั้งสายพานเท้าถีบและมอเตอร์ หากจะใช้สายพานเท้าถีบก้ต้องถอดมอเตอร์ออก สอดเชือกสายพานเข้าที่ก้นจักรได้เลย โดยจะมองไม่เห็นเชือกสายพานที่ด้านนอก ในส่วนมอเตอร์ต้องใช้มอเตอร์เฉพาะรุ่น PAB Motor ปลายมอเตอร์จะเป็นเฟืองเหล็กตัวหนอนต่อเข้ากับกลไกจักรโดยตรง ไม่มีสายพาน ข้อดีของการต่อมอเตอร์แบบนี้มอเตอร์สามารถขับกลไกได้โดยตรงช่วยให้จักรมีแรงบิดมากขึ้น ข้อเสียก็คือไม่สามารถหาใช้ได้กับมอเตอร์ทั่วๆไปหากจะใช้กับมอเตอร์ทั่วๆไปต้องดัดแปลงเพื่อใช้อีกทีเช่นเจาะรูที่โต๊ะจักรสำหรับติดมอเตอร์เซอร์โวที่ด้านล่างโต๊ะ

ตัวอย่างลวดลายซิกแซกของจักร Singer 631g

จักรรุ่นนี้มีความพิเศษทีทันสมัยมากๆในสมัยนั้นคือสามารถใส่เข็มได้ 2 เข็มที่มีขนาดที่แตกต่างกันเข็มที่ใช้ก็ใช้เข็มจักรพื้นบ้านทั่วไป HAx1, 2020 รวมถึงรองรับการเย็บแบบลูกโซ่ และสามารถเลือกลวดลายซิกแซกที่ติดมากับจักรได้เลย โดยไม่ต้องใส่ Specials Disk เพิ่มลวดลาย แต่ก็สามารถหา Specials Disk เพิ่มลวดลายซิกแซกมาใส่ได้เพื่อให้ได้การลวดลายซิกแซกที่แตกต่างออกไป จักรเก่าโบราณจะให้ลักษณะฝีเข็มที่ออกมาจมสวย ให้ลวดลายซิกแซกที่สวยงาม ฝีเข็มมีความสม่ำเสมอ

ตัวอย่างลวดลายจากจักร Singer 611g Singer 631g
ตัวอย่างการเย็บสองเข็มเหมาะสำหรับตะเข็บสองสี
ตัวอย่างการเย็บแบบลูกโซ่

เปรียบเทียบรุ่น Singer 611g และ Singer 631g

จักรที่ได้มาทั้งสองตัวนี้มีกลไกภายในเหมือนกัน รวมทั้งอุปกรณ์และฟังก์ชั้นการทำงานที่เหมือนกันจะแตกต่างกันตรงที่ฐานจักรที่เป็นฐานราบและฐานจักรแบบ Free Arm ซึ่งตัวฐานจักรแบบ Free Arm จะหายากและมีราคาแพงกว่า

คุณสมบัติของจักรรุ่น Singer 631g นี้เหมือนกันกับ Singer 611g สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ —-> SINGER 611g

Singer ในตะกูล Series 600

จักร Singer 600 Series Touch and Sew รุ่นหลังจาก 631g ถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบในรุ่น Touch and Sew เพราะเริ่มมีการนำชิ้นส่วนกลไกพาสติกเข้ามาแทนเหล็ก ผลที่ได้คือได้จักรที่เบา เดินได้เงียบ แต่ไม่มีความแข็งแรงและการใช้งานที่ทนทานยาวนานเหมือนรุ่นก่อนๆ แต่ก็ยังได้รับความนิยม เพราะเดินได้เงียบและมีน้ำหนักเบาเข้ามาแทน และในสมัยนั้นอะไหล่ยังมีขายทั่วไป ทำให้ไม่ต้องคำนึงถึงว่ากลไกภายในจะเป็นเหล็กหรือพาสติกเพราะพังก็สามารถซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนได้ง่าย

Singer ในตะกูล Series 600 นี้รูปทรงจักรจะคล้ายๆกับ Singer 611g และ Singer 631g รุ่นหลังๆจะเปลี่ยนกลไกข้างในจักร บางรุ่นก็ใช้เฟืองพาสติกอย่างดีในกลไกจักร บางรุ่นก้ใช้เฟืองเหล็ก บางรุ่นก็ใช้สายพาน หรือยังใช้เฟืองเกียร์เหล็กแต่ลดลวดลายซิกแซกลงหรือไม่สามารถเพิ่มลวดลายได้ ถ้าใครสนใจจักร Singer รุ่น Touch and Sew ก็ต้องระวังเรื่องกลไกภายในควรจะหาจักรเก่าที่มีกลไกภายในที่ยังคงเป็นเฟืองเกียร์เหล็ก (metal gear) เท่านั้น

Singer Touch and Sew Magazine

ปิดท้ายบทความ: จักรเย็บผ้ารุ่นเก่าไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใดรุ่นใดก็ตาม เปรียบเหมือนเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ผสมผสานงานศิลปะของนักออกแบบในยุคสมัยนั้นๆ ที่ถูกออกแบบและสร้างมาอย่างปราณีต บางรุ่นมีฟังก์ชั่นที่จัดใส่มาเต็มที่แบบไม่กั๊ก หรือบางรุ่นก็มีดีไซน์ที่ออกแบบมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างฟังก์ชั่นการทำงานที่ทำให้รู้สึกว่าใช้งานได้ง่าย ใครๆก็สามารถใช้งานได้ ใส่แนวคิดใหม่ๆในการออกแบบที่คนสมัยเรายังนึกไม่ถึง มีกลไกในตัวจักรที่ซับซ้อน บางตัวออกแบบในที่แคบๆได้ดี ดูทันสมัยมาจนปัจุบันนี้ รวมถึงความทนทานที่ผ่านมากี่ยุดกี่สมัยก็ยังซ่อมใช้งานได้อยู่และส่งต่อไปให้ลูกหลานใช้ได้อีกหลายรุ่น แถมยังน่าเก็บสะสมไว้เป็นเครื่องประดับวางตกแต่งภายในบ้าน จักรเก่าสภาพดีๆมักมีราคาแพง ใครที่มีงบประมาณจำกัดควรศึกษาจักรหลายๆรุ่นหลายๆแบบแล้วรอจังหวะซื้อ ควรซื้อจักรเก่าโบราณ ตามฟังก์ชั่นการใช้งานหรือดีไซน์ที่เราชอบเก็บไว้แค่หนึ่งหรือสองเครื่องก็พอ โดยไม่ต้องสนใจว่าจักรจะหายากหรือหาง่าย เพียงแค่เราได้เครื่องที่เราชอบมาแค่เครื่องเดี๋ยว ก็สามารถนั่งลูบๆคลำๆ หยอดน้ำมัน เช็ดๆถูๆ หรือนั่งเย็บผ้าได้ทั้งวันแล้ว…

สนใจจักรเก่าญี่ปุ่นเข้าไปอ่านบทความเพิ่มเติมได้ครับ —–> Click

RELATED STORIES:

Comments are closed

Comments are closed.